รวบรวมพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
...............................................................
ตั้งแต่โบราณกาล ประเทศไทยประกอบด้วยสถาบันหลัก 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะสถาบันศาสนา เพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนา ประจำชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบำรุงทุกศาสนาในพระราชอาณาจักร พระราชทานพระราชทรัพย์และทรงส่งเสริมการบุญการกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเลื่อมใสศรัทธาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแรงกล้า
จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมา ขณะเดียวกันก็ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นๆ ด้วย
โดยแท้จริงแล้ว ในด้านพุทธศาสนา ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมพระศาสนา พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ
การเสด็จฯ ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 รวมเป็นเวลา 15 วัน แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจอยู่อีกมาก แต่ก็ได้ทรงแสดงถึงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ตอนหนึ่ง โดยพระราชทานแก่ผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2523 ความว่า
“… ท่านทั้งหลายหวังในบารมีให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้นก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมืองประกอบด้วยบุคคล และแต่ละบุคคลจะต้องทำด้วยตนเองตามหลักของพุทธศาสนา แต่ละคนจะต้องการอะไร ก็ต้องการความสุขคือความสงบ และความสุขและความสงบนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยตัวเอง ฉะนั้นที่จะให้คนอื่นมาปกป้องรักษาก็เป็นสิ่งที่ยากถ้าตัวเองไม่ทำ อันนี้เป็นข้อที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา และผู้ถือตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนต้องพึ่งตัวเอง มิใช่พึ่งคนอื่น แต่การที่จะอาศัยคนอื่นก็อาศัยได้ โดยดูผู้อื่นที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และคอยฟังสิ่งที่ผู้อื่นที่เราเห็นว่าปฏิบัติดีชอบ ได้พูด ได้แนะนำ ดังนี้ก็เป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้ ฉะนั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาของตัวเองว่าผู้นั้นควรเป็น ผู้ที่น่าจะดูการปฏิบัติ หรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติ และทำตามหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้ …”
Cr. http://3king.lib.kmutt.ac.th/
แสดงความคิดเห็น